วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บ้านทรงไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย


บ้านทรงไทย 
 
ภาพ:Bangkok19.jpg

      
  "บ้านทรงไทย" เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นไทย เปรียบได้กับงานประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่ซ่อนหลักการและเหตุผลอันแสดงให้เห็นถึงศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา รวมถึงวิถีชีวิตของคนไทย


วิวัฒนาการบ้านทรงไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
ภาพ:Bangkok1.jpg
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 1

        รัตนโกสินทร์ที่สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 รับสืบทอดวัฒนธรรมการสร้างเรือนมาจาก อาณาจักรศรีอยุธยาไม่ผิดเพี้ยน บ้านทรงไทยภาคกลางในยุคนั้น มักเป็นเรือน 3 ห้อง ยกใต้ถุนสูงพอเดินลอดได้ มีบันไดทอดลงสู่ท่าน้ำเพื่อสะดวกในการใช้น้ำทั้งดื่ม อาบและใช้สอยภายในบ้าน

ภาพ:Bangkok3.jpg
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 3

        มาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3 เรือนไทยก็ยังไม่ต่างจากสมัยรัชกาลที่ 1 เท่าไร ตัวอย่างแรกคือตำหนักแดง ของสมเด็จพระสุริเยนทรามาตย์ พระมเหสีในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ภาพ:Bangkok4.jpg
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 4

        อิทธิพลตะวันตกในรัชกาลที่ 4 ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยอย่างมาก บ้านทรงไทยแบบใหม่เปลี่ยนรูปจากเดิมไปเป็นแบบฝรั่ง เริ่มมีบ้านก่ออิฐถือปูนชั้นล่างแต่ชั้นบนเป็นไม้ มีระเบียงโปร่งรอบชั้นบนและหลังคาปั้นหยา

ภาพ:Bangkok5.jpg
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 5

        ในรัชกาลที่ 5 เรือนหลังคาปั้นหยาเริ่มมีกันหนาตาแทนบ้านทรงไทยโบราณ อย่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บ้านไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ชั้นเดียวหรือสองชั้น นิยมสร้างประยุกต์แบบตะวันตกเข้ากับไทย คือสร้างด้วยไม้ ยกพื้นกันน้ำท่วมแต่ใต้ถุนเตี้ยกว่าบ้านไทยเดิม

ภาพ:Bangkok6.jpg
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 6

        รัชกาลที่ 6 เป็นยุคบ้านเมืองสงบราบรื่น เศรษฐกิจดี ชาวเมืองนิยมความประณีตงดงาม ประกวดประขันความหรูหราของเรือนแบบตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากบ้านวิกตอเรียนของอังกฤษ โดยเฉพาะการตกแต่งด้วยลายฉลุที่เรียกว่าขนมปังขิง(gingerbread) และเล่นรูปทรงตัวห้องมุขหกหรือแปดเหลี่ยม

ภาพ:Bangkok7.jpg
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 7

        พอมาถึงรัชกาลที่ 7 ที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง บ้านทรงไทยเริ่มลดความหรูหราเป็นเรียบง่าย ตัดลายฉลุฟุ่มเฟือยออกไป หลังคานิยมจั่วตัด

ภาพ:Bangkok8.jpg
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 8

        ในรัชกาลที่ 8 รูปทรงบ้านทรงไทยเก๋ไก๋ทันสมัยแบบตะวันตกสมัยศตวรรษที่ 20 เป็นบ้านสองชั้น แม้ว่าใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายของไทย แต่หลังคาก็เล่นแบบซ้อนกันหลายชั้น มีหน้าต่างบานเกล็ดและกระจกสีเหนือหน้าต่างแบบฝรั่ง

 โครงสร้างบ้านทรงไทย

ภาพ:Bangkok9.jpg

        บ้านทรงไทยถูกออกแบบตามโครงสร้างของครอบครัวเป็นหลัก โดยเริ่มต้นจาก "ครอบครัวเดี่ยว" ไปสู่ "ครอบครัวขนาดใหญ่" ภายหลังลูกๆ เริ่มแต่งงาน โดยขนบธรรมเนียมไทยผู้ชายที่แต่งงานจะไปอาศัยอยู่กับครอบครัวฝ่ายผู้หญิง ด้วยความเชื่อว่าจะเกิดข้อขัดแย้งระหว่างสองครอบครัวน้อยที่สุดบ้านทรงไทยแบบดั้งเดิมจะยกพื้นใต้ถุนสูงเท่ากับความสูงของผู้อยู่อาศัย โดยมีพื้นเล่นระดับ โดยมีระดับเป็นตัวกำหนดสัดส่วนของการใช้งาน และให้ความรู้สึกไม่จำเจ ระดับที่ต่างกัน 30-40 ซ.ม. นั้นยังใช้เป็นที่นั่ง โดยมีระดับที่ต่ำกว่าเป็นที่วางเท้า ดังนั้นระดับที่สูงกว่านั้นก็กลายเป็นม้านั่งยาวได้


บ้านทรงไทย ทำไมจึงมีใต้ถุนสูง

ภาพ:Bangkok17.jpg

  • เรื่องความปลอดภัย ความส่วนตัวและที่อยู่อาศัย
  • เรื่องน้ำท่วมโดยในโอกาสอื่นๆ ใต้ถุนบ้านถูกใช้งานได้หลากหลาย มันสามารถใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือทางการเกษตร และเป็นพื้นที่ว่างสำหรับวิ่งเล่นและทำงานอื่นๆได้
  • อย่างไรก็ตาม บางคนก็ใช้ใต้ถุนเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสัตว์ทำให้สกปรกและมีกลิ่น บ้านทรงไทยจึงเป็นบ้านที่ใช้งานได้มากมายหลายประเภท และขยายขนาดไปเรื่อยๆ ตามขนาดของครอบครัว

ข้อห้ามเฉพาะสำหรับการสร้างบ้านทรงไทย

ภาพ:Bangkok12.jpg

        ข้อห้ามเฉพาะสำหรับการสร้างบ้านทรงไทยตามลัทธิไสยศาสตร์ ประเพณี และความเชื่ออันมีอิทธิพลต่อขวัญของบุคคล ซึ่งความเชื่อลัทธิดังกล่าว บางอย่างมีเหตุผลสมควร บางอย่างหาสาเหตุยังไม่พบ หรือไม่มีเหตุผลอธิบาย
        ปัจจุบันข้อห้ามหรือความเชื่อบางอย่าง มีเหตุผลอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ และบางอย่างก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ ทำให้บางคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อห้ามเหล่านี้ อย่างไรก็ก็ยังคนมีผู้ให้ความสำคัญกับข้อห้ามเหล่านี้อยู่เช่นกัน
        ข้อห้ามเฉพาะสำหรับการสร้างบ้านทรงไทย พอจะรวบรวมเป็นข้อห้ามเฉพาะการสร้างบ้านได้ดังนี้
  • บันไดห้ามใช้จำนวนขั้นคู่ (ต้องเป็นขั้นคี่นับเฉพาะขั้น ไม่นับพื้นหรือชานพัก)
  • บันไดไม่ลงไปทางทิศตะวันตก
  • ไม่หันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก
  • ไม่ทำน้ำพุน้ำตกไหลเข้าตัวเรือน (ตึก)
  • ไม่ปลูกต้นหางนกยูง ต้นลั่นทม ต้นโศก ตรุษจีนฯ
  • ไม่ทำทางเข้าลอดใต้ห้องน้ำส้วม

ภาพ:Bangkok20.jpg

  • ไม่ทำอาคารรูปตัว "ที" มีปีกเท่ากันสองข้างเรียก "แร้งกระพือปีก" ถือเป็นอัปมงคล
  • ไม่ทำเรือนทะลุหน้าตลอดหลังถือว่าเป็น "เรือนอกแตก" เป็นอัปมงคล
  • ไม่ทำภูเขาจำลองไว้ในบ้าน
  • ห้ามใช้ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าในการปลูกเรือน
  • ห้ามใช้เสาตกน้ำมัน
  • ห้ามทำทางเข้าออกคู่ไว้ตอนมุมของพื้นดินที่ทางสามแพร่งหรือสี่แยก
  • ห้ามทำภาพยักษ์ไว้ในบ้าน
  • ห้ามทำหนังใหญ่หรือหนังตะลุงไว้ในบ้าน
  • ห้ามใช้ช่อฟ้า ใบระกา - เครื่องวัด - เครื่องหลวง หรือมีเครื่องประดับชั้นสูงในบ้าน
  • ห้ามปลูกเรือนคร่อมตอ
  • ห้ามตั้งศาลพระภูมิใต้เงาเรือน
  • ไม่ปลูกต้นมะละกอใกล้ตัวเรือน
  • ห้ามทำบันไดเวียนซ้ายขาขึ้น
  • ไม่ปลูกบ้านใต้ต้นไม้ใหญ่
  • ห้ามมิให้มีสัตว์ตกตายในหลุมตอม่อ
  • ห้ามใช้เสาไม้มีตาในระยะ "เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลัก รอด หมู่สี"
  • ห้ามวางรูปพื้นเรือนในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงรูโลงศพ
  • ห้ามทำเตียงนอนขาสิงห์ เครื่องใช้ขาสิงห์ (ซึ่งเทียมเจ้านาย)
  • ห้ามนำศพออกประตูเรือน หรือลงบันไดบ้าน (ให้ออกทางด้านฝาหุ้มกลอง เพราะสะดวกในการเคลื่อนศพฝาหุ้มกลองถอดออกและประกอบใหม่ได้)
  • ห้ามนำของวัดเข้าบ้านหรือมาประกอบเป็นส่วนของบ้าน
  • ห้ามทำทางเข้าเวียนซ้ายของอาคาร ฯลฯ

   ข้อดีและข้อเสียของบ้านทรงไทย

ภาพ:Bangkok14.jpg

        ข้อดี

         1. เป็นเรือนสำเร็จรูป บ้านทรงไทยหรือเรือนไทยเป็นเรือนสำเร็จรูป เนื่องจากเราต้องปรุงเครื่องเรือน เช่น เสา ฝา จั่วปั้น ระเบียง ประตูหน้าต่าง ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงนำไปประกอบในสถานที่ปลูกสร้าง ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนแล้วมุงหลังคาเป็นอันแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็เก็บงาน ขัด ทาสี พร้อมเข้าอยู่ได้
         2. จะสร้างมากหลังหรือน้อยหลังก็ได้เราสามารถต่อหรือขยาย บ้านทรงไทยออกไปอีกกี่หลังโดยไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของเรา
         3. แสดงออกถึงวัฒนธรรมไทย ท่านที่มีบ้านทรงไทย หรือาศัยอยู่บ้านทรงไทยนับได้ว่า ท่านเป็นคนไทยที่ช่วยอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมไทยไว้ปรากฏแก่ลูกหลานสืบไป หากเราปลูกแต่บ้านสไตล์ยุโรป หรือแนวตะวันตก บ้านเรือนไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งอาจสูญหายไป เคยมีผู้ติดต่อให้ไปสร้างบ้านทรงไทยให้ทั้งทางยุโรป อเมริกาและประเทศแอฟริกา
         4. สร้างโดยคนไทย บ้านทรงไทยควรจะส้รางโดยคนไทย เพื่อคนไทย เพื่อลูกหลานไทย
         5. แสดงลักษณะสถาปัตยกรรมประจำชาติ บ้านทรงไทย มีศิลปะการก่อสร้างที่น่าทึ่ง เป็นสถาปัตยกรรมประจำชาติที่โดดเด่นมาก ถ้าเราเห็นรูปแบบบ้านทรงไทยที่ไหนๆในโลก เราจะทราบได้ทันทีว่านี่คือประเทศไทย ดังที่เราจะเห็นปรากฏบ่อยๆ บนโลโก็หรือสัญญลักษณ์ต่างๆ ของไทย เราต้องยกย่องบรรพบุรุษของเรา ที่สามารถสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย ตราบเท่าทุกวันนี้
         6. ใต้ถุนบ้านใช้สอยเอนกประสงค์ บ้านทรงไทยใต้ถุนโล่ง เราสามารถใช้งานได้แบบเอนกประสงค์ สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ หรือจะต่อเติมกั้นห้องได้อีกมาก
         7. ใต้ถุนเรือนโปร่งถ่ายเทอากาศ ทำให้ใต้ถุนเย็นสบาย หากไม่มีการกั้นห้องเพิ่มเติม ทำให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก ทำให้ใต้ถุนเย็นสบาย ไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ

ภาพ:Bangkok10.jpg

         8. หลังคาทรงสูงกันความร้อนจากหลังคาเข้าสู่ห้องได้ดี การที่มีหลังคาทรงสูงการถ่ายเทความร้อนทำได้ดี อากาศร้อนจะลอยไปอยู่ในช่วงหลังคา ทำให้ข้างล่างอากาศเย็นสบาย
         9. ความคิดและการปฏิบัติในการก่อสร้างได้ผลดี แนวความคิดในการออกแบบโดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ เช่น สนองประโยชน์ใช้สอยความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ป้องกันความอบอ้าวของอากาศ ป้องกันฝน ป้องกันแสงแดดกล้ ป้องกันสัตย์ร้ายจากป่าและน้ำท่วม รับลมและระบายความอบอ้าว ไม้รับความร่มรื่นจากธรรมชาติ ใช้วัสดุก่อสร้างหาง่ายในท้องถิ่น และวัฒนธรรมประเพณที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ซึ่งนำมาออกแบบและสามารถนำไปปฏิบัติก่อสร้างได้ผลดีตามแนวคิดเหล่านั้น
         10. ใช้วัสดุก่อสร้างท้องถิ่น สมัยก่อน บ้านเราอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ ทำให้สามารถนำสร้างบ้านได้ง่าย วัสดุที่ใช้จะเป็นไม้เป็นส่วนใหญ่ โครงสร้างนิยมใช้ไม้สัก ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ฯลฯ ปัจจุบันยังนิยมใช้ไม้เก่า มาสร้างเนื่องไม้มีคุณภาพดี มีความแข็งแรง ไม่หดตัว
         11. ประกอบสร้างได้ในวันเดียว บ้านทรงไทยเป็นเรือนสำเร็จรูปก็จริง แต่ก็มีองค์ประกอบส่วนต่างๆ ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ระยะเวลาในการสร้างหรือประกอบจะขึ้นอยู่กับขนาดของตัวบ้าน ถ้าเป็นบ้านขนาดเล็กก็สามารถสร้างเสร็จในวันเดียว จำนวนช่างก็ต้องมีมากด้วย ถ้าหากบ้านมีขนาด ใหญ่ก็จะใช้เวาลประกอบหลายวัน และวัสดุที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ต้องมีการไส ขัด ทาสีและเก็บงานต่างๆ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาหลายวัน
         12. แสดงถึงความฉลาดในการทำโครงสร้างสอบเอียงเข้า การทำโครงสร้างสร้างสอบเอียงเข้า ทำให้สามารถรับน้ำหนักของหลงคาที่ถ่ายเทลงที่ตัวเสาได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยต้านแรงลมได้ดีอีกด้วย คนสมัยก่อนเก่งจริงๆ (คิดได้งัยเนี่ย..นับถือๆ)
         13. มีรูปทรวดทรงสวยงาม บ้านทรงไทยมีรูปทรงงดงาม อ่อนช้อย มีความสุนทรีอยู่ในตัว บ่งบอกถึงรสนิยมของเจ้าของบ้าน
         ฯลฯ

         ข้อเสีย

ภาพ:Bangkok15.jpg

         1. มีขีดจำกัดต่อการใช้สอย มีข้อกำจัดในการจัดวาห้องน้ำ ในกรณีที่เจ้าของบ้านต้องการทำห้องน้ำในห้องนอน หรือทำห้องครัวแบบสมัยใหม่ รวมทั้งการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเคหภัณฑ์ต่างๆ
         2. การสร้างมากหลัง ขาดการสัมพันธ์ของห้องต่อห้อง ถ้าเราสร้างมากหลัง หรือมีการต่อเติมเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดความสัมพันธ์ของห้องหรือบ้านแต่ละหลัง ซึ่งสามารถแก้ไข โดยให้สถาปนิกออกแบบไว้ก่อนมีการก่อสร้างเพิ่มเติม
         3. เปลืองพื้นที่ในการปลูกสร้าง เรือนไทย ถ้าจะให้เป็นเรือนไทยที่ได้ขนาด ต้องปลูกสร้างบนพื้นที่ดิน ประมาณ 100 ตร.วา พื้นที่อาจลดลงตามฐานะของผู้ปลูก แต่ส่วนมากไม่ต่ำกว่า 50 ตร.วา ซึ่งควรมีต้นไม้ที่ดอกหอมแบบไทยๆ ปลูกประกอบ เช่น พิกุล ลำดวน จำปี จำปาหรือการะเวก ป็นต้น สำหรับ bansongthai.com เราสามารถปลูกบ้านทรงไทยสไตล์รีสอร์ท เป็นบ้านพักผ่อนหรือรับรอง ที่มีห้องน้ำพร้อมระเบยีงนั่งเล่น ได้ในพื้นที่ 30 ตร.วา
         4. ทำให้ขนาดกว้างใหญ่ได้ยาก ขนาดของบ้านทรงไทยมีมาตรฐานที่จำกัด ยากแก่การขยายแบบให้มีขนาดใหญ่ โดยทั่วไป จะมีขนาดความกว้างของห้อง ประมาณ 3.0 เมตร 3.5 เมตร 4 เมตรและ4.5 เมตร ส่วนความยาวของห้องก็ประมาณ 5 เมตร 7.5 เมตรและ 9 เมตร
         5. ต้านลมและหมดเปลือง บ้านทรงไทยมีหลังคาทรงสูง ทำให้มีรูปแบบที่ต้านลมและทำให้ต้องใช้วัสดุมุงหลังคา เช่นกระเบื้องดินเผามากกว่าปกติ
         6. ขาดการใช้ประโยชน์ส่วนตัว ในที่นี่หมายถึงบ้านทรงไทยเดิม ที่ห้องน้ำและห้องครัวแยกออกมาอีกหลังหนึ่ง ทำให้เวลาอาบน้ำ ต้องเดินมาอีกเรือนหนึ่ง ปัจจุบันเราสามารถสร้างหรือประยุกต์ให้ห้องน้ำติดกับห้องนอนได้ ทำให้มีความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น
         7. ใต้ถุนของนอกชานใช้ประโยชน์ได้น้อย เพราะเตี้ยเดินลอดไม่ได้ ปัจุจุบันเราสามารถสร้างให้ชานนอกมีระดับสูงได้ โดยทั่วไประดับชานนอก จะประมาณ +2.60 เมตร ซึ่งสามารถจอดรถยนต์ได้ ระดับพื้นระเบียง ประมาณ +2.80 เมตรและระดับพื้นห้องนอน ประมาณ +3.00 เมตร
         8. ภายในห้องอบอ้าว อากาศเข้าทางหน้างต่าง ทางอากาศผ่านออกน้อยมาก สามารถออกแบบหรือสร้างให้มีหน้าต่างเพิ่มขึ้นได้ ทำให้อากาศผ่านได้มากขึ้น ปกติบ้านทรงไทยจะเย็นสบายอยู่แล้ว ความเย็นสบายเป็นลักษณะเด่นของบ้านทรงไทย

ภาพ:Bangkok16.jpg

         9. ฐานรากไม่แข็งแรงทรุดตัวง่าย ปัจจุบันการออกแบบฐานราก จะใช้วิธีตั้งเสาบ้านทรงไทยบนฐานรากตอม่อเสาเข็ม ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยคานคอดิน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการทรุดตัว
         10. ฝนรั่วได้ได้ตามแนวบานหน้าต่างและที่นอนลูกปะกน ฯลฯ หากมีการนำไม้ใหม่ มาใช้ในการทำบานหน้าต่างและที่นอนลูกปะกนของฝา อาจทำให้มีการหดตัวของไม้แล้วเกิดช่องว่าง ทำให้น้ำรั่วซึมเข้าได้ หากได้ช่างดีมีคุณภาพ ปัญหานี้จะหมดไป
         11. แสงสว่างเข้าภายในห้องได้น้อย เรือนไทยเดิม จะมีหน้าต่างน้อยบานทำให้แสงไม่สามารถเข้าได้มาก ดังนั้นปัจจุบันได้มีการออกแบบเพิ่มช่องแสงและจำนวนบานหน้าต่างมากขึ้น และมีการติดตั้งหลอดไฟฟ้าเพิ่มแสงสว่างได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ
         12. ฝาเอียงทำให้ตั้งเคหภัณฑ์ชิดฝาไม่สะดวก ฝาเอียงทำให้ตั้งโต็ะ ตู้เตียงชิดฝาไม่สะดวก เราจะเห็นเฟอร์นิเจอร์ไทยสมัยก่อน จะเป็นขนิดแยกส่วน สามารถนำไปวางได้ทุกที่ในตัวบ้าน
         13. พื้นไม้ไม่ได้ระดับอ่อนตัว ข้อนี้น่าจะเป็นบ้านทรงไทยเดิมสมัยก่อน ที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์โครงสร้างการรับน้ำหนักของตัวบ้าน อาจเกิดจากการทรุดตัวไม่เท่ากัน (Partial Settlement) ของเสาแต่ละต้น ทำให้พื้นมีระดับไม่เท่ากัน
         ฯลฯ